Skip to content

Wijit Apichatkriengkrai, Ph.D.

EYESMYTH SESSION IX - ดร. วิจิตร อภิชาตเกรียงไกร

บ้านไทยโบราณที่มุงหลังคาด้วยใบจากหรือสังกะสี เป็นภาพที่มองเห็นได้ทั่วไปในสมัยก่อน หากแต่ปัจจุบัน สไตล์ดั้งเดิมเหล่านี้กลับกลายเป็นภาพที่หายากมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ

เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปทางศาลายา เลยจุดพลุกพล่านย่านมหาวิทยาลัยเพียงไม่นาน เราได้พบบรรยากาศบ้านแบบที่ว่า ตั้งตระหง่านอยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ พร้อมกลิ่นอายของวิถีชีวิตเรียบง่ายแบบดั้งเดิม

ชานหน้าบ้านทำมาจากไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยใบจากแห้งสีเหลืองกรอบ ตัวบ้านปูนเปลือยมุงหลังคาด้วยสังกะสี รอบบ้านเต็มไปพืชพรรณน้อยใหญ่สารพัด ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ เตาถ่าน หมอดินหุงข้าว จานสังกะสี คร่าไม้ไผ่ และอุปกรณ์ทำงานศิลปะจำนวนมาก ที่วางกระจัดกระจายอยู่ใต้ชายคา สะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี

แม้ภายนอกจะดูเป็นบ้านวิถีไทยแท้ๆ หากแต่ภายในบ้านกำลังขับกล่อมและดึงดูดเราด้วยเพลงสากลจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ร่วมสมัย ความต่างสุดขั้วนี้คล้ายกำลังบอกเราว่าเจ้าของบ้านต้องมีความพิเศษไม่เหมือนใครแน่นอน

ดร. วิจิตร อภิชาตเกรียงไกร คือชื่อของเจ้าของบ้านหลังนี้

เขาคือศิลปินนักนิเวศน์สุนทรีย์ ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะบนท้องนาเรียกว่า "นานิเวศสุนทรีย์" แปลงนาที่ออกแบบให้ผู้คนได้หวนรำลึกถึงวิถีชีวิตของชาวนายุคดั้งเดิม เต็มไปด้วยความสวยงามและความสุนทรีย์แบบที่หาได้ยากในปัจจุบัน

ผลงานดังกล่าวสะท้อนวิถีชีวิตตามครรลองวัฒนธรรมข้าวพื้นถิ่น นำเสนอความสุขของชีวิตที่กลมกลืนระหว่างผู้คนกับสิ่งแวดล้อม นับเป็นปรากฎการณ์ความสัมพันธ์ตามธรรมชาติที่เรียบง่ายผ่อนคลาย ไม่ต่างอะไรจากบรรยากาศสนทนาในวันนี้

แดดอ่อน ลมพัดบาง ใบไม้ปลิว เพลงของ The Beatles ดังคลออยู่เบื้องหลัง บทสนทนากำลังจะเริ่มขึ้น

แรกเริ่มศิลปิน

เช้าวันนั้น ดร. วิจิตรต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มอบอุ่น พวกเราสวัสดีทักทายด้วยการไหว้ตามแบบวัฒนธรรมไทย หลังพูดคุยกันเล็กน้อย อาจารย์ขอตัวหลบเข้าไปในบ้านเพื่อเตรียมตัวพูดคุย ส่วนเราก็จัดเตรียมพื้นที่หน้าบ้านด้วยเก้าอี้และแคร่ไม้ไผ่ขนาดยาวสำหรับการนั่งสนทนา

เพียงไม่นาน อาจารย์ออกมาจากบ้านพร้อมโถโอเลี้ยงใบใหญ่ให้พวกเราแบ่งดื่ม ส่วนตัวเขาถือแก้วกาแฟดริปใบพอเหมาะแล้วนั่งลงที่เก้าอี้ไผ่ตัวนั้น

เราเริ่มต้นคุยด้วยการให้เขาพาย้อนไปถึงอดีต เมื่อครั้งอาจารย์เพิ่งรู้จักกับคำว่า “ศิลปะ”

“สมัยเด็กๆ เตี่ยเป็นคนจีนที่ชอบเห็นลูกหลานขยัน เขาก็จะเอารูปภาพจีนมาให้เราลอกลาย บางทีมาจากหนังสือพิมพ์ บางทีมาจากหนังสือ พอเราลอกเสร็จ เตี่ยก็เอาไปแจกเพื่อนๆ ทุกวันนี้เลยไม่เหลือสักชิ้น แต่นั่นก็เป็นพื้นฐานศิลปะให้กับเรา พอเข้าช่วงมัธยมก็ทำคะแนนวิชาศิลปะได้ดี รวมไปถึงพี่ชายที่เริ่มเอาสมุดวาดเขียนยี่ห้อวีนัสเข้ามาในบ้าน นั่นก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราสนใจทางนี้”

ในเมื่อศิลปะมีคำนิยามหลากหลายรูปแบบ แม้กระทั่งอาจารย์วิจิตรเองก็ยืนยันว่า เราสามารถมองเห็นความหมายศิลปะได้หลากหลาย แต่เขาก็แบ่งศิลปะคร่าวๆ ให้ฟังว่ามีศิลปะแบบโมเดิร์น และโพสต์โมเดิร์นที่มีอิทธิพล โดยทั้งสองอย่างจะมีความคิดหักล้างกัน

“ถ้ามองแบบโมเดิร์นจะดูเรื่องความสมบูรณ์แบบ ดูผลกระทบที่สั่นสะเทือนใจ เป็นงานศิลปะที่มีพลังงาน ดูแล้วนิ่ง สะกด ถ้าเขียนรูปแล้วไม่มีพลังงานก็แสดงว่ายังไม่ถึง ส่วนถ้าคิดแบบโพสต์โมเดิร์นก็ต้องมาเช็คว่าทำแล้วใครได้ประโยชน์ ศิลปะไม่มีอะไรดีที่สุด เป็นความคิดที่ตรงข้ามกัน”

และเมื่อถามถึงความนิยมส่วนตัวว่าชอบแนวคิดใดมากกว่ากัน เขาตอบกลับมาทันทีว่า ต้องใช้ทุกอย่างบูรณาการเข้าด้วยกัน จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความเหมาะสมใหม่ (New Appropriate)”

ภาพที่ ดร. วิจิตร ถวัดปลายพู่กันให้เราชมสดๆ

“ความเหมาะสมใหม่” หัวใจหลักของนิเวศสุนทรีย์

คล้ายคำว่า “ความปกติใหม่ (New Normal)” ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คำว่า “ความเหมาะสมใหม่” เป็นคำที่ศิลปินท่านนี้ คิดขึ้นมาเป็นแนวทางการใช้ชีวิตส่วนตัว แก่นหลักคือการคิดอยู่ตลอดเวลาว่า วันนี้และพรุ่งนี้ไม่มีอะไรเหมือนกัน เราจึงต้องกำหนดทิศทางความเหมาะสมใหม่ให้เหมาะกับตัวเองในแต่ละวัน ซึ่งนั่นเป็นหัวใจหลักของการใช้ชีวิตแบบนิเวศสุนทรีย์

“นิเวศสุนทรีย์เป็นแนวคิดที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นมาก ไม่ได้มีอันเดียวตายตัว เป็นความเหมาะสมของแต่ละคน แต่ความเหมาะสมของแต่ละคนนั้น ก็จะมีสิ่งหนึ่งที่ตามมาเสมอ คือการมองความสำคัญของคนอื่นด้วย ยิ่งมองเห็นคนอื่นเท่าไหร่ การอยู่ร่วมกันก็จะดีขึ้นด้วย มันสำคัญตรงนี้”

อาจารย์ยังแนะว่า แนวคิดแบบนี้เป็นแนวคิดที่มีอยู่บนโลกมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกนำมาจัดเป็นโครงสร้าง ทุกอย่างยังปะปนกับแนวคิดอื่น ฉะนั้นหากจะเดินทางสายนิเวศสุนทรีย์ก็ต้องเปลี่ยนโครงสร้างโดยการเขียนแผนผังเชื่อมโยงว่าจะทำอะไร เพื่อไม่ให้ลืม ไม่ให้หลง และให้ความสำคัญกับสิ่งที่ถูกต้อง

“เป็นเรื่องที่ยากนะ แต่เราต้องพยายามใช้วิธีบูรณาการนิยมมาใช้ เราก็จะได้สิ่งดีๆ ถามว่าผมให้ความสำคัญกับใครที่สุด ผมให้ตัวเองก่อน แต่ความสำคัญของอื่นๆ ก็ติดตามมาเร็วเหมือนกัน เช่น บางคนต้องตัวเองมีเงินพันล้านก่อนถึงจะช่วยสังคม แต่ของผมมีเงินสักพันบาทก็ช่วยคนอื่นได้แล้ว แสดงว่าเราเห็นแก่ตัวได้ แต่ก็ต้องเห็นแก่คนอื่นให้เร็ว ไม่งั้นก็จะไม่มีประโยชน์อะไร เราก็จะอยู่ด้วยกันแบบเหลื่อมล้ำต่อไป”

สตูดิโอส่วนตัวที่ดร. วิจิตรกำลังสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชุดถัดไป

อาจารย์ยกตัวอย่างโครงการสาธารณศิลป์ “นานิเวศสุนทรีย์” ที่ได้บูรณาการเอาศาสตร์ต่างๆ มาช่วยสร้างความเหมาะสมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตรกรรมในการปลูกดูแลข้าว ด้านศิลปะในการสร้างสรรค์รูปแบบนา ด้านวัฒนธรรมกับประเพณีลงแขก ด้านนิเวศวิทยาใช้ในการควบคุมสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ หรือด้านสังคมที่ใช้ในการเก็บข้อมูลชุมชน ฯลฯ เขาสร้างนาผืนหนึ่งโดยออกแบบเป็นรูปวงกลม มีบ่อน้ำตรงกลาง มีกองฟาง มีโรงนา แล้วก็ปลูกข้าวโดยไม่ใช้สารเคมี

“ปรากฏการณ์ในนาครั้งนั้นดีมาก เสียดายที่วันนี้ไม่มีนาให้ดูแล้ว แต่สิ่งที่คนได้สัมผัสเองจากนาในพื้นที่เล็กๆ นั้นทรงพลังมาก เป็น power และ energy ที่ยิ่งใหญ่ เชื่อไหมว่ามีคนเดินเข้าไปแล้วเดินหน้าตื่นออกมาเลย เขาไม่คิดว่ามันจะส่งผลกระทบแรงขนาดนี้”

การใช้แนวคิดเชิงบูรณาการสร้างความกลมกลืนให้กับผลงาน ทำให้เขาพบความหมายใหม่ของนิเวศสุนทรีย์ในวิถีวัฒนธรรมข้าวไทย ด้วยรูปแบบที่สร้างเพื่อให้เกิดความเหมาะสมใหม่ที่เหมาะสมกับตัวเอง

“ถึงเราจะไม่ใช่ลูกชาวนา แต่เราเคยวิ่งเล่นกับเพื่อน เราก็จะจำทุกอย่าง จะได้ถึงแมลงปอที่บินอยู่ในทุกนา แต่เพื่อนลูกชาวนาคนนั้น ตอนนี้กลายเป็นข้าราชการเจ้าหน้าที่กระทรวง เขาคงลืมแมลงปอตัวนั้นไปแล้ว แต่เรายังจำได้อยู่”

“นิเวศสุนทรีย์” มีนามสกุลเป็นทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้

“นิเวศสุนทรีย์นามสกุลมากมาย อย่างเรามาใช้วิถีแบบนี้ก็เป็นนิเวศสุนทรีย์แบบวิถีไทย” อาจารย์วิจิตรกล่าวพลางบอกให้เราเตรียมตัวไปหุ้งข้าวเตาถ่าน เพื่อทำอาหารกลางวันกินพร้อมกัน “ลองนึกถึงตู้กับข้าว นึกถึงการก่อฟืนไฟ มันดันไปโยงกับแนวคิดสากลอย่าง Slow Life หรือ Slow Food ที่พยายามเอาวัตถุดิบเอาผลิตเอง เก็บผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำอาหารไม่เร่งด่วนแบบปรุงเอง”

รวมไปถึงคำว่า Slow City ที่อาจารย์เพิ่งค้นพบจากการหนังสือ ซึ่งเขาคิดว่าเหมาะสมมากกับการแก้ปัญหาเมืองใหญ่แสนเร่งรีบ

“Slow City สามารถจัดการให้เมืองลดความเร่งรีบ ทำให้มองเห็นรายละเอียดความสุข ความเอื้ออาทร และทำให้เมืองเติบโต เช่น การมีถนนน้อยๆ ทางเดินเยอะๆ ถ้าอยากให้คนเดิน เราก็ต้องมีทางเดินเท้าที่ดี ไม่ใช่มีแต่ป้ายโฆษณาแบบปัจจุบัน ทุกอย่างอยู่ผิดที่ผิดทางไปหมด มันมีกี่ประเทศกันนะ ที่ทางเดินเท้าเป็นที่ตั้งป้ายแบบนี้?”

แน่นอนว่าความเจริญของเมืองนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง ศิลปินท่านนี้จึงแนะนำว่า หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ขอให้พิจารณาเรื่องความเหมาะสมใหม่ดีๆ รวมทั้งอย่าลืมนำหลักนิเวศสุนทรีย์มาคิดและบริหารด้วยเช่นกัน

และเป็นจริงอย่างที่เขาบอก นิเวศสุนทรีย์ประกอบได้กับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ ขอแค่เราได้เลือกในสิ่งเหมาะสมกับตัวเองก็พอ

แว่นตาที่เหมาะสมกับตัวเอง

แว่นตาทรงกลมกรอบดำหนาเพียงครึ่งเดียวแบรนด์ EFFECTOR รุ่น Echo สวมอยู่บนใบหน้าของอาจารย์วิจิตร ระหว่างที่พวกเรากำลังทอดไข่เจียวผสมใบโหระพาที่เพิ่งเด็ดสดๆ จากต้นเมื่อครู่

อาจารย์บอกว่าเหตุผลหนึ่งที่ตัวเองเลือกแว่นดังกล่าว เพราะบุคคลที่มีชื่อเสียงโลกส่วนใหญ่จะเลือกแว่นทรงกลม เช่น จอห์น เลนนอน หรือศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เว้นแต่ว่าตัวเองใส่แว่นกรอบกลมเต็มเฟรมแล้วไม่เหมาะสมเท่าไหร่ ในที่สุดก็เลยเลือกรุ่นนี้ที่กรอบมีเพียงครึ่งบน

“ปกติเราไม่ได้ใส่แว่นตลอดเวลา ฉะนั้นถ้าเราใส่แว่นหนักๆ ใหญ่ๆ ถ้าเลือกแว่นไม่เหมาะก็จะเป็นรอยตรงจมูก ส่วนขาแว่นหนาไม่เป็นไร เพราะถ้าขาเล็กๆ บางทีอาจจะหลุดออกมา พยุงกรอบไม่ได้ เราเลยเลือกแว่นที่ดูแข็งแรง ทนทาน และเหมาะสมกับตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง”

เพราะหลายคนเลือกซื้อแว่นจำนวนมาก แต่แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร การเลือกแว่นที่เหมาะสม ใส่แล้วมั่นใจจึงเป็นสิ่งที่สมควรกว่า

“แว่นมีความเป็นศิลปะในตัวมันเอง เป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ หรือเป็นของแต่งตัวที่ทำให้เราสุนทรีย์” อาจารย์วิจิตรกล่าว “นอกจากเหมาะสมแล้ว เราต้องรักมันด้วยนะ”

อธิบายให้ชัดคือ ถ้าแบ่งเป็นโครงสร้าง ความเหมาะสมคือเรื่องคุณสมบัติ ความรักก็คือเรื่องถูกใจ รวมไปถึงการมองเป็นแฟชั่นนิยมก็ไม่ใช่เรื่องผิด

“บางคนใส่แว่นอันเดิมตลอดเวลา เห็นมา 20 ปีก็ใส่แว่นแบบนั้น ก็เป็นเรื่องการใส่กระตุ้นชีวิตจิตวิญญาณ หรือบางคนก็มีชื่อเสียงได้เพราะแว่นตา เช่น เอลตัน จอห์น ที่คนไปดูคอนเสิร์ตเพราะรอดูแว่นตาของเขา มองไกลแค่ไหนก็เห็น (หัวเราะ) แสดงว่าแว่นตาของเขามันทำงาน เหมาะสมกับตัวเขาเองนั่นเอง”

สิ้นสุดการสนทนาข้าวในหม้อดินหุงสุกพอดี เราตักข้าวใส่จานก่อนตักไข่เจียวสีเหลืองฟูใส่ถาดสังกะสี

พวกเรานั่งล้อมวงกินข้าวไข่เจียวพร้อมกับอาจารย์วิจิตร แม้จะเป็นเมนูอาหารง่ายๆ แต่มันช่างเหมาะสมมากกับการปิดท้ายการสนทนาในวันนี้

รสชาติอาหารในบรรยากาศกันเองพาให้เรารู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก เราจะพยายามซึบซับอารมณ์ ความรู้สึก และบรรยากาศ ณ ช่วงเวลานั้นให้ได้มากที่สุด ก่อนมุ่งหน้ากลับสู่เมืองใหญ่

และมองหาความเหมาะสมใหม่ที่จะเป็นเส้นทางของเราต่อไป

 

ทศพล เหลืองศุภภรณ์ - Team Head
สหธร เพชรวิโรจน์ชัย - Interviewer
รณกร เจริญกิตติวุฒ - Photographer
ธนาภิวัฒน์ ปิยวัจน์เดชา - Video & Editor

Share:

Older Post Newer Post