Skip to content

Pannarut Netipiraphong

EYESMYTH SESSION IX - ปัณณรุจน์ เนติพีระพงศ์


ตัวตนของมนุษย์มีหลายแง่มุมให้ค้นหา การพิจารณาจากเครื่องแต่งกายเป็นหนึ่งในนั้น เพราะทั้งเสื้อผ้า กางเกง ทรงผม หรือแม้กระทั่งแว่นตา ก็สามารถเป็นสิ่งสะท้อนตัวตน บุคลิก และไลฟ์สไตล์ของผู้สวมใส่นั้นๆ ได้เช่นกัน

ในทัศนะของ คุณเบนซ์ - ปัณณรุจน์ เนติพีระพงศ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้า Palini และสไตลิสต์ที่มีความผูกพันกับร้าน EYESMYTH มาโดยตลอด เขายืนยันว่าแฟชั่นมีความสำคัญกับเขามากทีเดียว เพราะทั้งในชีวิตส่วนตัว และชีวิตการทำงาน คุณเบนซ์เดินอยู่บนเส้นทางสายนี้มาโดยตลอด



คุณเบนซ์กำลังชงกาแฟดำ ให้เราดื่มเป็นการต้อนรับสู่บ้าน PALINI

แม้จะรู้จักกันมาหลายปี แต่เราก็ยังไม่มีโอกาสได้นั่งคุยสนทนากันอย่างเป็นจริงเป็นจัง นี่จึงเป็นครั้งแรกที่เราจะได้ล้วงลึกความคิดของคุณเบนซ์ว่าเขามองโลกผ่านเลนส์อย่างไรบ้าง แว่นที่นำมาใช้ในงานแฟชั่นเป็นอย่างไร และมีเทคนิคผสมผสานแฟชั่นกับสิ่งต่างๆ ผ่านสายตาตัวเองอย่างไร มุมมองเหล่านี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนที่กำลังสนใจงานด้านนี้ได้เป็นอย่างดี

Palini คือแม่ผู้เป็นแรงบันดาลใจ


สำหรับใครหลายๆ คน เสื้อผ้าอาจเป็นเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวัน แต่มันอาจเป็นอะไรที่มากกว่านั้น หากเรามองมันผ่านคำว่า “แฟชั่น” เพราะคำคำนี้บ่งบอกได้ถึง “ตัวตน” ของผู้สวมใส่ แม้บางครั้งการใส่เครื่องแต่งกายนั้นๆ อาจไม่ทำให้สะดวกและสบายตัวเท่าไหร่ก็ตาม

“เมื่อก่อนผมมีแว่นที่เลนส์เล็กๆ ใส่แล้วมองไม่ค่อยเห็น เพราะตาจะโฟกัสได้จำกัด เรารู้ว่ามันมองลำบาก แต่เรามั่นใจเวลาใส่ เหมือนบางคนใส่เสื้อ Flannel หนาๆ ใส่แจ็คเก็ตตลอดเวลา เขารู้ว่าแหละว่ามันร้อนแหละ แต่มันเสริมสร้างความมั่นใจ ใส่แล้วรู้สึกสบายใจกับตัวเขามากกว่า”

ทั้งนี้ ความหลงใหลในเสื้อผ้าและแฟชั่นของคุณเบนซ์เริ่มต้นมาตั้งแต่เด็ก และอาจเรียกได้ว่า นี่คือโลกใบเดียวที่เขารู้จัก โดยมีแรงบันดาลใจจากคุณแม่ของเขานั่นเอง

“สมัยเด็ก จำได้ว่าแม่แต่งตัวเก่งมาก สมมุติวันที่มีงานผู้ปกครอง แม่ทุกคนจะแต่งตัวจัดเต็มมา แต่คุณแม่เราแต่งเบา แต่เรารู้สึกว่าเท่กว่าคนอื่นมาก แม่ชอบแมทช์สีเอิร์ธโทนได้น่าสนใจ ตัดผมสั้น ผูกผ้าพันคอแค่นั้นก็จบแล้ว เราเลยมองว่าแม่แต่งตัวมีเทสดี เค้าฉลาดในการใช้คู่สี”

เพราะมีแม่เป็นบุคคลสำคัญต่อชีวิตและหน้าที่การงานขนาดนี้ เมื่อเขาสร้างแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง เขาจึงตัดสินใจใช้ชื่อคุณแม่มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ด้วย



พื้นที่ชั้น 2 ของบ้านที่เขาจัดเป็นสตูดิโอออกแบบของแบรนด์ Palini

“คุณแม่ชื่อปาลิณีย์ ชื่อเพราะดีครับ แล้วแม่ก็เป็นแรงบันดาลใจอยู่แล้วตั้งแต่เด็ก เราก็เลยเอาชื่อแม่นี่แหละมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ว่า Palini” คุณเบนซ์เล่าว่าเขาคิดจนหัวแทบแตกกว่าจะได้ชื่อนี้ที่ลงตัว “ตอนแรกคิดใช้ชื่อแบรนด์ Aphrodite หรือเทพแห่งความรัก คำมันสวยนะ แต่พอตื่นมาอีกวันแล้วรู้สึกโคตรเลี่ยนเลย เราไม่ได้มีศรัทธาตรงนั้นสักเท่าไร คงใช้ไม่ได้แน่นอน แล้วก็มีคนบอกว่าให้ใช้ชื่อตัวเองสิ แต่ผมเองก็ไม่ได้ศรัทธาในตัวเองขนาดนั้นเหมือนกัน”

หากจะมีอะไรสักอย่างที่เขานับถือและศรัทธา ก็คงจะเป็นครอบครัว ที่สำคัญคุณเบนซ์ยังอุทิศความสำเร็จของแบรนด์นี้ให้กับเพื่อน รุ่นพี่ และการเติบโตในทุกประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดีในชีวิต

เพราะความสัมพันธ์ทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่หล่อหลอมจนเขามาอยู่ในจุดนี้

เคล็ดลับการทำงานคือความเคารพและการให้เกียรติ

Palini เป็นงานประจำของคุณเบนซ์ในปัจจุบัน แต่ก่อนที่เขาจะฝ่าฟันทุกอย่างจนมาสร้างแบรนด์ของตัวเองได้ เขาไต่เต้าและเรียนรู้เรื่องต่างๆ มานานหลายปี เริ่มจากการทำงานเป็นคนเฝ้าร้านเสื้อผ้า ตั้งแต่สมัยยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษา

แต่งานที่อาจเรียกได้ทำให้เขาได้ความรู้ด้านแฟชั่นแบบเต็มๆ ก็คือการเป็นสไตลิสต์ให้กับนิตยสารแฟชั่นวัยรุ่น Looker รวมไปถึงการเป็นสไตลิสต์ให้กับศิลปินและวงดนตรีดังๆ จำนวนมาก ถือเป็นงานที่ท้าท้ายและน่าสนใจ

“การทำสไตลิสต์ให้ศิลปิน ไม่ใช่แค่โยนเสื้อผ้าให้แล้วจบ ผมต้องทดลองกับเขาก่อน อันนี้โอเคไหม ใส่หมวกนี้โอเคหรือเปล่า”


เคล็ดลับที่ทำให้งานนี้ออกมาดีมีหลายอย่าง สิ่งที่คุณเบนซ์เน้นก็คือการออกไปซื้อเสื้อผ้ากับนักร้องนักดนตรีที่เขาดูแล เพราะจะทำให้มองเห็นชัดเจนว่า จะเลือกผสมผสานแนวทางอย่างไรมาใช้ในแต่ละคน และให้ทุกคนมีความเข้ากัน

นอกจากนี้จะดูแค่ความสวยของเสื้อผ้าอย่างเดียวไม่ได้ ยังต้องดูว่าเสื้อผ้าเหล่านั้นเมื่อสวมใส่แล้วใช้ประโยชน์ได้ดีด้วยไหม “บางครั้งเราบอกให้เขาใส่เครื่องประดับเยอะๆ ใส่ข้อมือเยอะ พอเขาเล่นกีตาร์ มันกลับเกี่ยวสาย บางคนเป็นมือกลอง แต่เราให้ใส่กางเกงขายาวซึ่งทำให้เขาตีไม่ถนัด ฉะนั้นเราต้องคำนึงถึงเรื่องฟังก์ชั่นด้วย”

“ถ้าสุดท้ายเราสไตล์ลิ่งเขาแล้วชีวิตเขาดีขึ้น มั่นใจขึ้น ใช้ชีวิตสะดวกขึ้น เราก็โอเคแล้ว”


อีกเคล็ดลับที่เรียกได้ว่าสำคัญที่สุดนั่นคือการให้เกียรติคนที่ร่วมงานด้วย และไม่ใช่แค่ให้เกียรตินางแบบนายแบบเท่านั้น แต่ให้เกียรติทุกคนที่อยู่ในกระบวนการ แม้แต่คนที่อาจไม่ได้มีส่วนร่วมในงานนั้นตรงๆ เช่น แม่บ้าน ผู้ช่วยตากล้อง หรือพนักงานเสิร์ฟน้ำ ฯลฯ

“ลองคิดดู ถ้าไม่มีน้ำ นายแบบก็หงุดหงิด ถ่ายงานไม่ได้ ฉะนั้นการให้คุณค่ากับทุกคนก็สำคัญ เพราะโตมาด้วยแบบนั้นด้วยแหละ เราก็ไม่ได้เลิศเลออะไร รู้สึกว่าทุกคนเท่ากันหมด” 

หมวก ฮาวาย และสีคราม ส่วนผสมแฟชั่นที่ลงตัว


หลังจากทำงานกับ Looker หลายปี คุณเบนซ์ได้เนรมิตความคิดสร้างสรรค์จำนวนมาก เมื่อถึงจุดหนึ่ง เขาก็ตัดสินใจทำสิ่งที่ทะเยอทะยานมากขึ้นกว่าเดิม

นั่นคือการลาออกจากเซฟโซนของตัวเอง

“มันเป็นเหตุผลเชยๆ ที่ทุกคนบอกว่า ให้ออกจากงานประจำเพื่ออยากทำอะไรของตัวเอง แต่มันดันเป็นเรื่องจริง” เขาหัวเราะลั่น “เราก็อยากทำอะไรเป็นของตัวเองเหมือนกัน”

อย่างไรก็ดี เขาลาออกมาโดยมีแผนการอยู่แล้วนั่นคือ การสร้างแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งถือเป็นความฝันสูงสุดของเขาก็ว่าได้

หลังจากทบทวนกับตัวเองว่าอยากจะทำแบรนด์แบบไหน เขาตัดสินใจได้ว่าจะนำองค์ประกอบ 3 อย่างที่เขาชอบที่สุดมาเป็นตัวตั้งต้น อย่างแรกคือ “หมวก” ซึ่งเขาชอบใส่มาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น

ต่อมาคือเสื้อแนวฮาวาย คุณเบนซ์เผยว่าเขาชอบมาตั้งแต่สมัยทำนิตยสาร Looker โดยครั้งหนึ่งต้องทำเนื้อหาในธีม “ฮาวาย” พอดี และยิ่งเขาค้นข้อมูลก็ยิ่งเจอความน่าทึ่งน่าหลงใหล ลงเอยด้วยการตามซื้อตามสะสมเสื้อฮาวายนับร้อยตัว




หมวกฮาวายของแบรนด์ Palini เริ่มต้นจากการตัดเย็บด้วยมือและด้วยความตั้งใจของคุณเบนซ์ในทุกขั้นตอน

“หากมองเผินๆ เสื้อฮาวายที่พบเห็นใส่กันก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด แต่จริงๆ แล้วเสื้อฮาวายมีเอกลักษณ์ที่แทบจะไม่ซ้ำกันเลย ตั้งแต่เนื้อผ้าไปจนถึงลวดลาย” เขากล่าว “ผ้ามันมีรายละเอียดเยอะมาก ถ้าคนใส่ฮาวายเดินมา 10 คนจะไม่ซ้ำกันเลย มันอาจจะมีซ้ำบ้างแหละแต่เป็นส่วนน้อย ”

ส่วนอันดับต่อมาคือ “สีคราม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีครามมัดย้อมที่สวยงามเหมือนสีทะเล

และส่วนผสมทั้ง 3 นี้ก่อให้เกิดเป็นหมวกที่ทำมาจากเสื้อฮาวายโดยมีอีกฝั่งนึงเป็นสีคราม ซึ่งเขาการันตีว่านี่คือไอเท่มขายดีสุดของ Palini เลยทีเดียว

แต่ทำอยู่ได้พักใหญ่ คุณเบนซ์ก็ตัดสินใจหยุดทำหมวกรุ่นนี้ สร้างความเซอร์ไพรซ์ให้ใครหลายๆ คน เมื่อถามว่าทำไมถึงตัดสินใจแบบนี้ คำตอบของเขาคือ “ผมชิงเบื่อตัวเองก่อนที่ลูกค้าชิงเบื่อผม”


“ตอนนั้นภาพของ Palini กลายเป็นแบรนด์ฮาวายอะโลฮ่า แต่ผมไม่อยากให้ลูกค้าเห็นเราเป็นแบบนั้น ก็เลยยอมลดภาพลงมา แล้วคอลเลคชั่นถัดไป ผมเลือกไปทางมินิมอลเลย นี่คือการทำแบรนดิ้งของผม”

อย่างไรก็ตาม หลังจาก Palini หยุดจำหน่ายหมวกฮาวายไปนาน ปี 2020 เขากลับมาทำอีกครั้งในรอบหลายปี



ความสัมพันธ์ที่ซื้อ-ขายไม่ได้

อีกหนึ่งไอเท่มของแวดวงแฟชั่นที่สำคัญก็คือ “แว่นตา” คุณเบนซ์เล่าให้ฟังว่า เขาหลงเสน่ห์ของแว่นมานาน และสะสมไว้หลายอัน ปัจจุบันจะเน้นการใส่แว่นสายตาที่ใส่แล้วสบายเป็นหลัก ซึ่งเขาแวะเวียนมา EYESMYTH อยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่สมัยที่ร้านยังใช้ชื่อว่า UNIK ด้วยซ้ำ

สิ่งที่ทำให้ร้านแว่นร้านนี้มีความพิเศษในความคิดของคุณเบนซ์ก็คือ ในช่วง 10 ปีก่อน จำนวนของแว่นแฟชั่นไม่ได้มีให้เลือกเยอะเท่าไหร่ แถมร้านแว่นใหญ่ๆ ก็มีแต่แว่นสไตล์เหมือนกันไปหมด

แต่ EYESMYTH เปรียบเสมือนโอเอซิสท่ามกลางทะเลทรายของคนทำงานสายแฟชั่น ไม่เพียงอุดมไปด้วยแว่นที่เข้ากับคาแรคเตอร์นิตยสาร ยังมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร

"เวลาเข้าบางร้าน เรารู้สึกไม่ได้สามารถสื่อสารกับพนักงานได้ แต่ตอนเจอ EYESMYTH ที่มีสไตล์ชัดเจน แถมยังสอดคล้องกับสไตล์ของเรา มันก็เลย Matching กัน"

และเมื่อคุยกันเข้าขาถูกคอ คุณเบนซ์ก็ตัดสินใจขอยืมแว่นตาไปใช้กับงานสไตลิสต์ของเขา


ในเมื่อกล้าขอ EYESMYTH ก็กล้าให้ สิ่งที่เซอร์ไพรซ์คุณเบนซ์ก็คือการให้ยืมแว่นเป็นเซ็ต และให้จำนวนมากกว่าที่ขอไป ซึ่งนั่นกลายเป็นข้อดีที่ช่วยให้เขาสามารถนำไปลอง และผสมผสานเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของนางแบบนายแบบ จนทำให้เกิดภาพที่น่าสนใจได้หลากหลายรูปแบบ

“เขาให้ความเชื่อใจเราระดับหนึ่งนะ เพราะแว่นเป็น 10 ชิ้นที่ให้ยืมนั่นราคาเป็นแสน เรามีแค่บัตรประชาชนยื่น (เป็นหลักฐานรับประกัน) ให้เขา ถ้าทำหายบนแท็กซี่คือชะตาขาดเลยนะ” เขาหัวเราะ

เมื่อราคาแพงขนาดนี้ การรักษาแว่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้เขาได้ฝึกวิธีการถนอมแว่นโดยที่ไม่คาดคิดมาก่อน กลายเป็นนิสัยใหม่ที่ติดตัวคุณเบนซ์มาถึงปัจจุบัน

“การซื้อแว่นคือการลงทุนครับ มันราคาสูงก็จริง แต่เป็นการบังคับตัวคุณให้รักษาของด้วย”


ตัวตนที่เหมาะสมกับแว่นตาแฮนด์เมดคุณภาพ

ในความคิดของคุณเบนซ์ แว่นคือเครื่องแต่งกายลำดับต้นๆ ที่คนจะให้ความสนใจ เพราะบริเวณดวงตาคือจุดที่ผู้คนมักจะมองเวลาสนทนากัน “คุณอาจไม่เห็นนาฬิกาของผม ไม่เห็นสร้อยคอ ไม่เห็นกางเกงในผม แต่คุณเห็นหมวกผม เห็นแว่นตาของผม”

อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเองจะเป็นคนทำงานสายแฟชั่น สนุกสนานกับการผสมผสานแว่นเข้ากับเสื้อผ้ามาแทบตลอดทั้งชีวิต แต่น่าเสียดายที่คุณเบนซ์มีข้อจำกัดที่ทำให้เขาเล่นสนุกกับแว่นของตัวเองไม่ได้มาก นั่นคือปัญหาเรื่องสายตาสั้น

“ถ้าผมมีโอกาส สายตาปกติเหมือนคนทั่วไป ผมคิดว่าดีกรีความสนุกจะเยอะกว่านี้เยอะเลย” คุณเบนซ์กล่าวด้วยเสียงเศร้า

แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นยอดฝีมือด้านแฟชั่น ปัญหาสายตาไม่ได้หมายความว่าเขาหยุดเลือกแว่นดีๆ มาใช้ โดยแว่นที่เขารักมากๆ และใช้เป็นประจำก็คือ Masahiro Maruyama รุ่น Broken ซึ่งมีทุกอย่างที่คุณเบนซ์ต้องการ หนึ่งคือขนาดกรอบที่ช่วยให้มองเห็นชัดเจนขึ้น สามารถสวมใส่ทำงานที่รักได้นานเท่านาน สองคือใส่แล้วสบาย ไม่บีบกดใบหน้า ไม่ทำให้ผิวแพ้



Masahiro Maruyama รุ่น Broken แว่นตาที่สะท้อนตัวตนและส่วนผสมความคิดสร้างสรรค์ของคุณเบนซ์

นอกเหนือจากนั้น Masahiro Maruyama ยังถือเป็นแว่นตาจากประเทศญี่ปุ่นที่เป็นเลิศด้านดีไซน์ เพราะแต่ละส่วนของแว่นมีความประณีต สอดแทรกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไว้เต็มไปหมด แต่ละชิ้นมีรายละเอียดไม่ซ้ำใคร มันจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ คุณเบนซ์รักแว่นอันนี้มากๆ เพราะมันไม่ต่างอะไรกับงานศิลปะ แบบเดียวกับเสื้อฮาวายที่เขาสวมใส่

“เราให้ความเคารพงานทำมืออยู่แล้ว เพราะเราเองก็ทำงานแฟชั่น พวกเสื้อหรือหมวกฮาวายก็ต้องใช้มือทำหมด ฉะนั้นเราเข้าใจว่า กว่าแว่นอันหนึ่งจะเสร็จออกมา มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

ไม่ต่างอะไรจาก Palini ที่คุณเบนซ์ใช้สองมือปลุกปั้นขึ้นมา จนกลายเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ละเมียดละไมในทุกองค์ประกอบ ทั้งหมดนี้เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้เขามองแฟชั่นได้อย่างเฉียบขาด และกลมกลืนไปกับชีวิตของเขาในวันนี้

หากมีสิ่งใดที่จะบ่งบอกถึงตัวตนของคุณเบนซ์ได้ สิ่งนั้นก็คงเป็นหมวก เสื้อผ้า และแว่นตาของเขา

แล้วสิ่งใดบ้างล่ะ ที่บ่งบอกตัวตนของคุณ?


ทศพล เหลืองศุภภรณ์ - Team Head
สหธร เพชรวิโรจน์ชัย - Interviewer
รณกร เจริญกิตติวุฒ - Photographer
ธนาภิวัฒน์ ปิยวัจน์เดชา - Video & Editor

Tagged with: SessionIX testimonial
Share:

Older Post Newer Post