Skip to content

JUNEJIRAPART

EYESMYTH SESSION IX - JUNEJIRAPART 

แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ความจริงแล้ว ‘โลโก้’ มีความสำคัญต่อธุรกิจมหาศาล เพราะมันเป็นเครื่องแสดงตัวตนของแบรนด์  ทั้งยังเป็นตัวสื่อสารข้อมูล ประเภทของธุรกิจ หรือสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคจดจำ

ไม่ต่างอะไรกับ ‘แว่นตา’ ที่ไม่เพียงเป็นอุปกรณ์ช่วยในการมองเห็น แต่ยังเป็นตัวส่งเสริมบุคลิก บ่งบอกตัวตน และสร้างภาพลักษณ์ของผู้ใส่ให้คนอื่นจดจำ

โลโก้ EYESMYTH โดย JUNEJIRAPART 

ย้อนกลับไปปี 2011 ร้านแว่นเล็กๆ แห่งหนึ่งเกิดขึ้นมากลางโครงการสยามวินเทจ สยามสแควร์ ระยะเวลาผ่านไปกว่า 9 ปี การเติบโตของร้านมีการเปลี่ยนชื่อเป็น EYESMYTH  และเปลี่ยนโลโก้เป็นตัวอักษรเรียงชิดติดกัน พร้อมภาพวาดมือช่างทำแว่นที่กำลังสร้างสรรค์งานอย่างละเมียดละไม

ลายเส้นโลโก้วินเทจอันเป็นเอกลักษณ์นี้ ออกแบบโดย JUNEJIRAPART หรือ คุณจูน – จิรภาส สระโร นักวาดภาพประกอบ/กราฟิกดีไซเนอร์คู่ใจของ EYESMYTH เจ้าของลายเส้นสไตล์ย้อนยุคที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานแกะสลักภาพพิมพ์โบราณ โดดเด่นด้วยรายละเอียดและความพิถีพิถันที่เพียงมองก็เหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในโลกยุคเก่า

ความสามารถของเขาไม่เพียงแค่วาดเส้นเท่านั้น แต่รวมถึงการตกแต่งสถานที่ การออกแบบตัวอักษร การออกแบบบรรจุภัณฑ์ รวมไปถึงการออกแบบโลโก้ที่เคยร่วมงานกับแบรนด์ใหญ่มาแล้วสารพัด

JUNEJIRAPART 

เราไปเยือนคุณจูนถึง The Cabret Moon สตูดิโอส่วนตัวย่านสาธรที่เป็นแหล่งผลิตผลงานสำคัญ

รอบตัวเขารายล้อมไปด้วยผลงานศิลปะ หนังสือ ของสะสม อุปกรณ์เครื่องเขียน และแมวหนึ่งตัวที่แสนจะออดอ้อน จนอดไม่ได้ที่จะลูบหัวทุกครั้งที่เดินผ่าน 

เรื่องราวและถ้อยคำในวันนั้นไม่เพียงพูดคุยถึงแค่ผลงานศิลปะของเขา แต่ยังไล่เรียงถึงตัวตน และเส้นทางของชายที่เปลี่ยนความหลงใหลมาเป็นลายเส้น

บทสนทนาในวันนั้น ถูกแปลงเป็นตัวอักษรในบรรทัดข้างล่างต่อจากนี้

ก่อ ร่าง สร้าง เส้น

ลายเส้นวินเทจของคุณจูน มีแรงบันดาลใจมาจากหนังสือปืนโบราณของคุณตาที่มีอาชีพเป็นตำรวจ ก่อนพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นลายเส้นส่วนตัวที่มีพื้นฐานจาก Engraving drawing หรือลายภาพพิมพ์ที่เกิดจากการแกะสลักไม้หรือเหล็ก

“นี่ครับ หนังสือจริงๆ ของคุณตาที่ผมเก็บไว้” คุณจูนหันเอื้อมไปหยิบหนังสือเล่มหนาหลังชั้นวาง แล้วกางออกให้เห็นภาพประกอบภายใน “เล่มนี้สมบูรณ์ที่สุดแล้ว เพราะเล่มอื่นจะมีรอยแหว่งตัดเก็บในสมุดสะสม” เขากล่าวพลางยิ้ม


ภายในเล่มเต็มไปด้วยภาพปืนหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสไตล์ ในท้ายเล่มมีการแยกองค์ประกอบว่าปืนกระบอกหนึ่งมีส่วนประกอบอะไรบ้างแบบละเอียดยิบ ด้วยลายเส้นโบราณอย่างที่เขาหลงใหล

ชายหนุ่มยอมรับว่า ครั้นเป็นเด็กชายเปิดดูภาพเพราะความชอบล้วนๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่างานภาพประกอบเหล่านี้เรียกว่าอะไร

“ผมเพิ่งจะมาเข้าใจศิลปะคืออะไรก็ตอน ม.5 - ม.6 เอง” เขาเล่าย้อนแกมสารภาพ “แต่พอรู้จักก็อยากเรียนต่อศิลปะที่มหาวิทยาลัย รุ่นพี่ก็เลยแนะนำให้ไปเรียนพื้นฐานก่อน”

คุณจูนเล่าย้อนไปถึงการเรียนรากฐานทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูปทรงพื้นฐานสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นรูปทรงพื้นฐานของธรรมชาติทั้งหมด

“ยกตัวอย่างนกหนึ่งตัวจะประกอบไปด้วยวงกลม (หัว) สี่เหลี่ยม (ตัว) และสามเหลี่ยม (ปีก) ซึ่งก็เหมือนการสร้างบ้านนั่นแหละครับ ที่จะต้องมีเสาเข็มเพื่อให้ฟอร์มมันถูกต้อง” 

ตัวอย่างผลงานของคุณจูนที่เขายังเก็บต้นฉบับร่างแรกไว้กับตัวเสมอ  

ด้วยเหตุนี้คุณจูนจึงเชื่อว่า การมีพื้นฐานศิลปะที่แข็งแรงจะทำให้ผลงานไม่หลงทาง เพราะตัวเขาเองก็เคยหลงทางมาก่อน

“เป็นประสบการณ์ตรงเลยครับ ผมเคยทำสิ่งที่ไม่ถนัด คือผมจบเซรามิก (คณะมัณฑนศิลป์ สาขาเครื่องเคลือบดินเผา มหาวิทยาลัยศิลปากร) แต่ค้นพบว่าตัวเองชอบอีกอย่าง พอเรียนจบก็มีเป้าหมายในใจว่าชอบวาดรูปนะ พูดตรงๆ ว่าจบมาก็ไม่เคยทำเซรามิกอีกเลย ทำแต่งานวาดภาพประกอบอย่างเดียว”

เชื่อไหมว่าการหลงทางครั้งนั้นตอกย้ำว่าเขาได้เลือกเส้นทางใหม่ที่ถูกต้อง และนั่นก็เป็นเส้นทางที่เขาเลือกเดินมาถึงวันนี้ 

อาจารย์ผู้แนะแนวลายเส้นให้คนอื่น

หมวกอีกหนึ่งใบของ จิรภาส สระโร คือการเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชา Creative Drawing ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โจทย์ของเขาคือการให้นักศึกษาค้นหาสไตล์ลายเส้น พัฒนาทักษะเพื่อใช้ในการทำงานต่อไปในอนาคต

และเมื่อศิลปะไม่มีอะไรถูกหรือผิด เทคนิคการสอนส่วนตัวจึงเป็นการปล่อยให้เด็กลองวาดภาพขึ้นมาก่อน แล้วเขาก็จะเป็นผู้แนะแนวทางว่านักศึกษาคนนั้นจะต้องพัฒนาหรือปรับปรุงอะไร

แต่สิ่งที่เราสงสัยก็คือ อะไรคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งโดดเด่นขึ้นมาจนกลายเป็นศิลปิน?

“ความอดทนอดกลั้นครับ” เขาตอบทันที “บางทีความโด่งดังก็เป็นสิ่งฉาบฉวย แต่สิ่งสำคัญคือพื้นฐานต้องแข็งแรง แล้วเขาจะต่อยอดไปในทิศทางไหนก็ได้ เพราะศิลปะต้องต่อยอดอยู่ตลอด ผสมเข้ากับสถานการณ์หรือโลกปัจจุบันให้ได้ รวมทั้งยังต้องตอบสนองสังคมภายนอกด้วย ไม่งั้นศิลปะก็จะเป็นงานที่ตอบสนองแต่ตัวเอง”

“ศิลปะไม่ได้สอนให้คนทำมีอีโก้นะครับ จริงๆ แล้วศิลปะสอนให้เอาไปจรรโลงโลกมากกว่า ทำให้คนอื่นดีขึ้น ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง”

และในฐานะอาจารย์ เกณฑ์ในการตัดเกรดของเขาจึงวัดว่าตรงตามตรงโจทย์หรือเปล่า เพราะหากนักศึกษาเหล่านี้เติบโตเป็นนักออกแบบในอนาคต สิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญคือการทำตามโจทย์ของลูกค้า 

เช่นเดียวกับโจทย์ที่คุณจูนได้เจอในปี 2016 กับการเปลี่ยนแปลงโลโก้ของร้าน EYESMYTH นั่นเอง

EYESMYTH Logo Maker

“สมัยนั้นร้านแว่นแฮนด์เมดสไตล์วินเทจยังไม่มีเยอะมาก เราเลยออกแบบโลโก้ให้มีความคราฟต์ขึ้น โตขึ้น ฟอนต์แข็งแรงขึ้น ด้วยรูปแบบฟอนต์ที่เชื่อมกันทั้งหมด”

เจ้าของนามแฝง JUNEJIRAPART หยิบกระดาษและปากกาหมึกซึมทรงโบราณขึ้นมาร่างโลโก้ให้เราดู พลางเล่าที่มาที่ไปของแนวคิดการออกแบบโลโก้

“แต่ก่อนคนใส่แว่นตาจะถูกมองว่าเนิร์ดๆ เชยๆ แต่แว่นในร้านนี้พิเศษกว่าที่อื่น เพราะไม่ได้มีแค่กรอบสี่เหลี่ยมอย่างเดียว แถมในร้านยังเต็มไปด้วยแว่นคุณภาพที่มีวัสดุแข็งแรง คงทน เราก็เลยเชื่อมตัวอักษร และใส่ขาฟอนต์ให้ดูมั่งคงแข็งแรง”

ไม่เท่านั้น คุณจูนยังศึกษาวิธีการทำแว่นอย่างละเอียดจากประสบการณ์จริง ด้วยการไปนั่งดูเพื่อนที่เป็นช่างทำแว่น ว่าเขามีขั้นตอนในสร้างสรรค์ผลงานยังไงบ้าง

“กว่าเขาจะได้แว่นแฮนด์เมดสักอันมันมีรายละเอียดเยอะมาก ต้องฉลุกรอบ เชื่อม ดัดโค้ง และยังมีขั้นตอนอีกมากมายซึ่งผมไม่รู้มาก่อน ซึ่งผมมองว่าแว่นตาสามารถเป็นของสะสมได้เลยนะ เพราะมันเป็นงานคราฟต์ชิ้นหนึ่งเหมือนกัน”

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเลือกขั้นตอนการเหลากรอบแว่นมาประกอบโลโก้ เพราะมันเป็นขั้นตอนที่ทำให้วัสดุชิ้นหนึ่ง มีหน้าตาออกมาเป็นแว่นที่สมบูรณ์ ผ่านการเลื่อย ฉลุ และตะไบที่ต้องใช้ใจในการทำ 

ในที่สุดก็ออกมาโลโก้อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ สะท้อนว่า EYESMYTH เป็นร้านที่รวบรวมแบรนด์แว่นตาแฮนด์เมดสไตล์วินเทจที่ไม่ซ้ำใคร

ใหม่ไป เก่ามา เมื่อกระแสวินเทจได้รับความนิยมอีกครั้ง 

ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังรุดหน้าอย่างหยุดไม่อยู่ โลกแฟชั่นไม่มีอะไรเก่าเกินไป เมื่อกระแสวินเทจพาเราหวนคืนไลฟ์สไตล์แบบวันวาน พาให้คิดถึงอดีตที่ยืนระยะมาถึงปัจจุบัน

เราถามคุณจูนว่าอะไรคือเสน่ห์ของงานสไตล์วินเทจที่เขาหลงรัก ซึ่งเขาตอบมาว่าคือความ ‘คลาสสิก’ เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน เสน่ห์ตรงนั้นก็จะไม่มีวันเลือนหายไป

“ตอนเด็กเรามองว่าสวยยังไง โตขึ้นมาเราก็ยังมองมันว่าสวยเหมือนเดิม เพราะมันคือความคลาสสิก เป็นของเบสิกที่ดูง่าย กินง่าย เข้าใจง่ายครับ”

สิ่งหนึ่งที่ทำให้งานวินเทจมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร ก็คือการมีระยะเวลาเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะโทนสีตุ่นๆ ที่เราเห็นในตอนนี้ เกิดจากจิตรกรชื่อ ‘กาลเวลา’ แปลงเปลี่ยนค่าสีให้อ่อนลงทุกวันๆ

“เช่น สมัยก่อนเขาจะใช้สีแดงจากยางไม้ซึ่งเป็นสีแดงสดครับ แต่เวลาผ่านไปค่าสีก็อ่อนลงจนกลายเป็นสีแดงสไตล์วินเทจอย่างที่เห็น สมัยก่อนยังไม่มีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีมากนัก งานส่วนใหญ่จึงเป็นงานคราฟต์จริงๆ และไม่เหมือนกันสักชิ้น ไม่ว่าจะเป็นของวินเทจ ภาพวินเทจ หรือแว่นตาวินเทจ ซึ่งก็เป็นงานฝีมือประเภทหนึ่ง และนั่นก็คือเสน่ห์ที่หาไม่ได้จากที่อื่นครับ”

เขาปิดท้ายบทสนทนาด้วยรอยยิ้มปัจจุบัน

 

ทศพล เหลืองศุภภรณ์ - Team Head
สหธร เพชรวิโรจน์ชัย - Interviewer
รณกร เจริญกิตติวุฒ - Photographer
ธนาภิวัฒน์ ปิยวัจน์เดชา - Video & Editor

Share:

Older Post Newer Post